ประสาทหูเสื่อม ปัญหาใหญ่วัยชรา
ประสาทหูเสื่อม ปัญหาใหญ่วัยชรา
International Day of Older Persons 2024
"หู" อวัยวะสำคัญที่ช่วยให้เราได้ยินเสียง โดยหูจะเปลี่ยนเสียงที่เราได้ยินให้กลายเป็นสัญญาณประสาท ซึ่งสมองจะทำการแปลผลให้เกิดการรับรู้เสียง อย่างไรก็ตาม เมื่ออายุมากขึ้น คุณสมบัติพิเศษนี้อาจค่อย ๆ จางหายไป
โดยทั่วไป ร่างกายจะมีภาวะสูญเสียการได้ยินอย่างช้าๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น หรือที่เรียกว่า “สภาวะประสาทหูเสื่อม (Presbycusis)” สาเหตุของภาวะนี้สามารถเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การเสื่อมสลายของเซลล์ขนหูชั้นใน การลดลงของการทำงานของเซลล์ประสาท หรือการฝ่อของโครงสร้างสำคัญในหูชั้นใน เป็นต้น
การสูญเสียการได้ยินมักถูกวัดโดยความเข้มหรือกำลังของคลื่นเสียง ซึ่งใช้หน่วย ‘เดซิเบล (Decibel, dB)’ ความรุนแรงของภาวะนี้จะสัมพันธ์กับระดับความเข้มของเสียงที่หูรับได้ โดยสามารถจำแนกได้ดังตาราง
ช่วงความเข้มของเสียง (dB) ที่ไม่ได้ยิน | ระดับความรุนแรง |
-10 ถึง 15 | ปกติ |
16 ถึง 25 | หูตึงเล็กน้อย |
26 ถึง 40 | หูตึงน้อย |
41 ถึง 55 | หูตึงปานกลาง |
56 ถึง 70 | หูตึงมาก |
71 ถึง 90 | หูตึงรุนแรง |
มากกว่า 90 | หูหนวก |
ภาวะประสาทหูเสื่อมในผู้สูงอายุสามารถส่งผลกระทบได้หลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันที่ต้องใช้อุปกรณ์ (Instrumental Activities of Daily Living, IADLs) เช่น การขับรถ การใช้โทรศัพท์ การทำความสะอาดบ้าน รวมถึงกิจวัตรพื้นฐานในชีวิตประจำวัน (Basic ADLs) เช่น การอาบน้ำ เข้าห้องน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ ภาวะประสาทหูเสื่อมยังทำให้การปฏิสัมพันธ์ต่อบุคคลรอบข้างลดลง ซึ่งอาจนำไปสู่ความรู้สึกโดดเดี่ยว ซึมเศร้า และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม
เมื่อภาวะประสาทหูเสื่อมมีความรุนแรงมากจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์อาจพิจารณาการใช้อุปกรณ์ช่วยฟัง เช่น เครื่องช่วยฟัง (Hearing Aid) หรือเครื่องประสาทหูเทียม (Cochlear Implant) เป็นต้น ทั้งนี้ควรได้รับการตรวจและวินิจฉัยจากแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
ภาวะประสาทหูเสื่อมเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ดังนั้นผู้ดูแลควรให้ความสำคัญและไม่ควรชะล่าใจในเรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุ ควรพาเข้ารับการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่
- อายุ 50 ปีขึ้นไป
- บุคคลในครอบครัวมีประวัติภาวะสูญเสียการได้ยิน
- ประกอบอาชีพที่ต้องสัมผัสกับเสียงดัง เข่น งานในกองทัพ งานเหมืองแร่ งานก่อสร้าง งานด้านการดนตรี งานขนส่งและจราจร เป็นต้น
การตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันการสูญเสียการได้ยินที่รุนแรงและผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมในอนาคต อีกทั้งยังช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้ดียิ่งขึ้นได้อีกด้วย
รายการอ้างอิง
- Silberberg M, Singh A, Bettger JP, et al. Routine Hearing Screening for Older Adults in Primary Care: Insights of Patients and Clinic Personnel. Gerontologist. 2024 Aug.
- National Institute on Deafness and Other Communication Disorders (NIDCD). Age-Related Hearing Loss (Presbycusis) [Internet]. 2023 Feb [updated 2023 Mar 17; cited 2024 Aug 25]. Available from: https://www.nidcd.nih.gov/health/age-related-hearing-loss
- Feltner C, Wallace I, Kistler C, Coker-Schwimmer M, Jonas DE, Middleton JC. Screening for Hearing Loss in Older Adults: An Evidence Review for the U.S. Preventive Services Task Force. Comparative Effectiveness Review No. 200. AHRQ Publication No. 20-05269-EF-1. Rockville, MD: Agency for Healthcare Research and Quality; 2021.
- Clark JG. Uses and abuses of hearing loss classification. ASHA. 1981;23(7):493-500.
- ศูนย์พัฒนาวิชาการอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรปราการ . แนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกันภาวะสูญเสียการได้ยินจากเสียงดังจากการประกอบอาชีพ [e-book]. สมุทรปราการ: ศูนย์พัฒนาวิชาการอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จังหวัดสมุทรปราการ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข; กรกฎาคม 2563 [เข้าถึงเมื่อ 25 สิงหาคม 2567]. เข้าถึงได้จาก https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/1030820200713105552.pdf