ติดต่อ +66 2 826 9999
Mon - Fri 07:00 - 20:00
Sat - Sun 07:00 - 17:00

เบื่ออาหาร สัญญาณเสี่ยงในคนวัยเก๋า

คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
-
19 มิ.ย. 2566
-

 

ภาวะเบื่ออาหารในผู้สูงอายุ (Anorexia of Aging) สามารถสะท้อนสุขภาพของผู้สูงอายุได้ หากผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้น้อย ร่างกายจะได้รับพลังงานและสารอาหารไม่เพียงพอ น้ำหนักตัวลด เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ฟื้นตัวช้า และการเกิดภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย (Sarcopenia) ที่อาจทำให้ผู้สูงอายุมีปัญหาในการเคลื่อนไหว เสี่ยงต่อการหกล้ม นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ลดลง

 

 

สาเหตุของภาวะเบื่ออาหาร

  • ปัญหาช่องปากและการกลืน

ปัญหาช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นฟันผุ ไม่มีฟัน โรคเหงือก (Periodontal disease) ปากแห้ง (Xerostomia) และปัญหาด้านการกลืน (Dysphagia) การสำลักอาหาร มักเป็นเรื่องกวนใจที่พบได้บ่อยครั้งในกลุ่มคนวัยนี้ สร้างความเบื่อหน่ายและไม่อยากรับประทานอาหาร

  • ปัญหาการรับรู้กลิ่นและรสชาติ

กลิ่นและรสชาติอาหารสามารถเพิ่มอรรถรสในการรับประทานอาหารได้ แต่เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ระบบการรับรู้กลิ่น (Olfactory receptor cell) บริเวณโพรงจมูกทำงานลดลง รวมไปถึงต่อมรับรส (Taste buds) มีจำนวนลดลงส่งผลต่อการรับรู้รสชาติช้าลงได้ (Hypogeusia) ได้

  • การทำงานของระบบทางเดินอาหารไม่ดี

การเคลื่อนตัวของกระเพาะอาหารที่ช้าลงและความยืดหยุ่นของกระเพาะอาหารที่ลดลง อาจทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น ทั้งยังทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะนานกว่าปกติ ผู้สูงอายุจึงรู้สึกอิ่มนานขึ้นหลังจากรับประทานอาหารได้เช่นกัน 

  • ปัญหาด้านสภาพจิตใจ

อารมณ์มีผลต่อความพึงพอใจในการรับประทานอาหารในผู้สูงอายุมาก บางครั้งหากพวกท่านมีความเครียด รู้สึกหดหู่ เบื่อหน่าย เศร้า ไม่แจ่มใส และท้อแท้ในชีวิตก็ทำให้พวกเขาไม่อยากอาหาร และรับประทานน้อยลงได้

  • บรรยากาศบนโต๊ะอาหารที่ไม่ดี

สภาพแวดล้อมเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้ดีขึ้น บางท่านอาศัยอยู่เพียงลำพังหรือต้องรับประทานอาหารคนเดียว รสชาติอาหารไม่อร่อยถูกปาก สถานที่รับประทานอาหารไม่สะดวกสบาย ไม่สะอาด ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยหรือปฏิเสธการรับประทานอาหารได้

 

เมื่อทราบถึงสาเหตุแล้ว มาเรียนรู้ 5 วิธีการแก้ไขปัญหาที่ทำให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารน้อย

เพิ่มมื้ออาหาร

ปรับหรือแบ่งเป็นอาหารหลัก เป็นมื้อเล็กๆ จำนวน 4-5 มื้อต่อวัน แทนมื้อปกติหลัก 3 มื้อ โดยเน้นอาหารที่มีพลังงานและโปรตีนสูง

ตกแต่งจานอาหาร

จัดวางอาหารให้ดูน่ารับประทาน มีการเลือกใช้สีสันอาหารที่หลากหลาย อย่างสีแดง สีเขียว สีส้ม สีเหลือง และเพิ่มการใช้สมุนไพรต่างๆ ในอาหาร เพื่อเพิ่มกลิ่นและรสชาติของอาหาร

แก้ปัญหาการเคี้ยวและการกลืน

พบทันตแพทย์หากมีปัญหาช่องปาก เลือกอาหารที่อ่อนนุ่ม หรือตัดเป็นชิ้นเล็กลง และหากผู้สูงอายุมีปัญหาการกลืนหรือสำลักอาหารควรปรึกษาผู้ชำนาญการ เพื่อรับคำแนะนำในการทำอาหารที่มีการปรับความหนืดให้เหมาะสม

สร้างบรรยากาศเชิงบวกบนโต๊ะอาหาร

การรับประทานอาหารร่วมกับสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนฝูง จัดสภาพแวดล้อมที่ใช้รับประทานอาหารให้เหมาะสม เช่น จัดโต๊ะสีเรียบง่ายสะอาดตา พื้นที่สะอาด อากาศถ่ายเทดี บรรยากาศอบอุ่น และอาจเปิดเพลงเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ สร้างความผ่อนคลายและเพิ่มอรรถรสการรับประทานอาหารที่มากขึ้น

รับประทานอาหารให้ตรงเวลา

เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายรับรู้ถึงเวลาอาหาร ช่วยเพิ่มความรู้สึกอยากอาหารได้

 

ภาวะเบื่ออาหารในผู้สูงอายุ ถือเป็นสัญญาณเตือนเสี่ยงของปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ ดังนั้น หากนำคำแนะนำง่ายๆ 5 ข้อนี้มาลองปรับใช้ เราก็จะสามารถดูแลผู้สูงอายุให้มีความสุขในการรับประทานอาหาร เพื่อส่งเสริมให้สุขภาพกาย สุขภาพใจแข็งแรงสมบูรณ์ ป้องกันการเจ็บป่วยในอนาคตได้

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก BDMS Wellness Clinic

โทร: 028269999

LINE: @bdmswellnessclinic

 

แหล่งอ้างอิง
  • Rusu A, Randriambelonoro M, Perrin C, Valk C, Álvarez B, Schwarze A. Aspects Influencing Food Intake and Approaches towards Personalising Nutrition in the Elderly. Journal of Population Ageing. 2020;13(2):239-256.
  • WikbyK, Fagerskiold A. The willingness to eat. An investigation of appetite among elderly people. Scandinavian Journal of Caring Sciences. 2004;18(2):120-127.
  • The Best Practice Advocacy Centre New Zealand. Strategies to improve nutrition in elderly people - Prescription foods [Internet]. Bpac.org.nz. 2011 [cited 4 April 2022]. Available from: https://bpac.org.nz/bpj/2011/may/elderly.aspx
  • Landi, F., Calvani, R., Tosato, M., Martone, A. M., Ortolani, E., Savera, G., Sisto, A., Marzetti, E. Anorexia of Aging: Risk Factors, Consequences, and Potential Treatments. Nutrients. 2016;8(2):69.

 

Share:

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved