ติดต่อ +66 2 826 9999
Mon - Fri 07:00 - 20:00
Sat - Sun 07:00 - 17:00

ภาวะการมีบุตรยาก ฝันร้ายของคนอยากมีลูก

คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก และส่งเสริมสุขภาพสตรี
คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก และส่งเสริมสุขภาพสตรี
-
05 ส.ค. 2567
-

ผู้หญิงประสบปัญหาภาวะการมีบุตรยาก

สาเหตุการมีบุตรยาก และ 3 วิธีแก้ไขที่มีประสิทธิภาพ

“อยากมีลูกแต่ทำไมถึงไม่ท้องสักที ?” คำถามนี้คงสร้างความสงสัยแก่คู่รักหลายคู่ที่ใฝ่ฝันอยากมีครอบครัวที่สมบูรณ์ แต่ต้องเผชิญกับภาวะการมีบุตรยาก จนกลายเป็นปัญหาที่สร้างความกังวล ความเครียด และส่งผลต่อความสัมพันธ์ได้ แต่อย่าเพิ่งคับข้องใจไป บทความนี้ ขอชวนทุกคนมารู้จักกับภาวะมีบุตรยากเกิดจากอะไร และวิธีการรักษา เพื่อเป็นแนวทางให้คู่รักที่กำลังเผชิญกับปัญหานี้ มีความหวัง และพร้อมที่จะก้าวต่อไปบนเส้นทางสู่การเป็นพ่อแม่อย่างสมบูรณ์

ภาวะการมีบุตรยากคืออะไร ?

ภาวะการมีบุตรยาก หมายถึง ภาวะที่คู่สมรสพยายามมีบุตร โดยการมีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง และไม่คุมกำเนิดเป็นเวลา 1 ปี แต่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ภาวะนี้พบได้ประมาณ 10-15% ของคู่สมรสที่ต้องการมีบุตร สาเหตุอาจเกิดความผิดปกติจากฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิง หรือทั้งสองฝ่ายร่วมกัน

สาเหตุการมีบุตรยาก

สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

ภาวะการมีบุตรยากในฝ่ายหญิง

  • ความผิดปกติของฮอร์โมน : ฮอร์โมนเพศหญิงมีบทบาทสำคัญต่อระบบสืบพันธุ์ ความผิดปกติของฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมน FSH (การทำงานของรังไข่) ฮอร์โมน AMH (ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ) และฮอร์โมน LH (การตกไข่) จะส่งผลต่อการตกไข่ และการฝังตัวของทารกในครรภ์ 
  • ปัญหาการตกไข่ : สาเหตุที่พบบ่อยคือ ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง ที่ส่งผลต่อการผลิตและการตกไข่
  • ความผิดปกติของมดลูก : มีติ่งเนื้อในโพรงมดลูก เนื้องอกมดลูก พังผืดในโพรงมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ส่งผลให้เกิดการรบกวนการปฏิสนธิและการฝังตัวของตัวอ่อนในครรภ์
  • อายุ : ความเจริญพันธุ์ของผู้หญิงจะลดลงตามอายุ โดยเฉพาะหลังอายุ 35 ปี

ภาวะการมีบุตรยากในฝ่ายชาย

ปัญหาอสุจิ (Male Factor) : ความผิดปกติในการสร้างอสุจิ การอักเสบของท่อระบบสืบพันธุ์ หรือการอุดตันของท่อนำอสุจิ ที่ส่งผลต่อการสร้างตัวอสุจิน้อยลง หรือคุณภาพของตัวอสุจิที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงไข่ได้ หรือเข้าถึงไข่ได้ยาก

ภาวะการมีบุตรยากแบบไม่มีสาเหตุ

การที่คู่สมรสได้รับการตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุของการมีลูกยากทั้งหมดแล้ว แต่ไม่พบความผิดปกติใด ๆ สามารถพบได้ 5-10% ของคู่สมรสทั้งหมด

วิธีการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุ

การวินิจฉัยภาวะการมีบุตรยาก แพทย์จะทำการตรวจทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ดังนี้

การตรวจฝ่ายหญิง

  • การตรวจระดับฮอร์โมนต่าง ๆ : ตรวจวัดระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ เช่น ฮอร์โมน FSH ฮอร์โมน AMH และฮอร์โมน LH เพื่อประเมินความสามารถในการทำงานของรังไข่
  • การฉีดสีดูท่อนำไข่และโพรงมดลูก (HSG) : การฉีดสีผ่านทางช่องคลอดเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อตรวจหาความผิดปกติภายในมดลูกและปีกมดลูกผ่านทางภาพเอกซเรย์ 
  • การอัลตราซาวนด์มดลูกและรังไข่ (TVS) : การใช้คลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อตรวจดูความผิดปกติของมดลูกและรังไข่ผ่านทางช่องคลอด

การตรวจฝ่ายชาย

  • การตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำเชื้อ : คุณภาพของน้ำเชื้อ ปริมาณตัวอสุจิ การเคลื่อนไหวของตัวอสุจิ รวมไปถึงรูปร่างตัวอสุจิ
  • การตรวจดูฮอร์โมน FSH : ตรวจวัดระดับปริมาณฮอร์โมน ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการผลิตอสุจิ หากค่าฮอร์โมนนี้สูง หมายถึง ลูกอัณฑะไม่สามารถสร้างตัวอสุจิได้ แต่ถ้าค่าฮอร์โมนนี้ต่ำ ก็ทำให้มีการสร้างตัวอสุจิน้อยลง 

นอกเหนือจากการตรวจทางการแพทย์ แพทย์จะซักถามข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อประเมินภาวะการมีบุตรยากอย่างละเอียด เช่น ความถี่และความสม่ำเสมอของรอบประจำเดือน อาการปวดท้องเวลามีประจำเดือน ข้อมูลเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ วิธีการคุมกำเนิดที่ผ่านมา หรือประวัติเกี่ยวกับการบาดเจ็บหรือการผ่าตัด

วิธีรักษาภาวะมีบุตรยาก เพิ่มโอกาสตั้งครรภ์

3 วิธีรักษาภาวะการมีบุตรยาก

ในปัจจุบันมีวิธีการรักษาภาวะการมีบุตรยากหลายวิธี โดยแพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น สาเหตุการมีบุตรยาก ระยะเวลา อายุ และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เพื่อนำเสนอวิธีการรักษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดย 3 วิธีการรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ยอดนิยมมีดังนี้

  1. การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) เป็นวิธีรักษาภาวะการมีบุตรยากที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน โดยเก็บไข่และน้ำเชื้ออสุจิมาไว้ในจานทดลอง เพื่อให้เกิดเป็นตัวอ่อน และนำตัวอ่อนที่มีคุณภาพไปฝังตัวในมดลูก เพื่อเจริญเติบโตเป็นทารกในครรภ์ต่อไป
  2. การทำอิ๊กซี่ (ICSI) เป็นการช่วยปฏิสนธิโดยทำการคัดเลือกอสุจิแข็งแรงเพียง 1 ตัว ทำการฉีดเข้าไปในเซลล์ไข่โดยตรงจนเกิดเป็นตัวอ่อน ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการปฏิสนธิและโอกาสการตั้งครรภ์ได้
  3. การฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก (IUI) เป็นวิธีการแก้ปัญหาการมีบุตรยาก โดยการฉีดน้ำเชื้ออสุจิคุณภาพเข้าไปในโพรงมดลูกโดยตรงในช่วงตกไข่ เพื่อลดอัตราการตายของตัวอสุจิ และช่วยให้มีโอกาสทำให้ตั้งครรภ์สูงมากขึ้น

สำหรับคู่รักที่ประสบปัญหาภาวะมีบุตรยาก ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโดยตรง เพื่อให้แพทย์ประเมิน ตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับคู่ของคุณมากที่สุด

สำหรับคู่รักที่กำลังเผชิญปัญหามีบุตรยาก และต้องการตั้งครรภ์ที่สมบูรณ์ เข้ามาปรึกษาได้ที่ BDMS Wellness Clinic กับคลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก ด้วยเทคนิคการทำ IVF และการทำ ICSI เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพ ที่ดำเนินการวินิจฉัย ดูแล และทำหัตถการโดยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทาง พร้อมด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ให้ผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้มากกว่า สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดหมายแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาได้ที่เบอร์ 02-826-9999 หรือ LINE Official @bdmswellnessclinic

 

Share:

Recommended Packages & Promotions

Pre-screening for IVF/ICSI คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก และส่งเสริมสุขภาพสตรี คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก และส่งเสริมสุขภาพสตรี

ตรวจสุขภาพเพื่อเตรียมมีบุตร เริ่มต้นการเป็นคุณพ่อคุณแม่อย่างมั่นใจ

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved