ติดต่อ +66 2 826 9999
Mon - Fri 07:00 - 20:00
Sat - Sun 07:00 - 17:00

ภาวะสูญเสียฟันในวัยสูงอายุ

คลินิกทันตกรรม
คลินิกทันตกรรม
-
27 ก.ค. 2563
-

 

“ฟัน” นับเป็นอวัยวะที่สามารถอยู่กับมนุษย์ไปได้ตลอดชีวิตหากมีการดูแลสุขภาพช่องปากที่ดีตั้งแต่อายุยังน้อย ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพช่องปากที่ดีจะรู้สึกสบาย รับประทานอาหารได้อร่อย มีร่างกายแข็งแรง ช่วยให้การพูดออกเสียงได้ชัดเจน ไม่ต้องกังวลในการเข้าสังคมและส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ในผู้สูงอายุบางรายที่ดูแลสุขภาพช่องปากที่ไม่ดีพอ อาจะทำให้เกิดภาวะการสูญเสียฟันในวัยสูงอายุตามมา และอาจเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้

สาเหตุของการสูญเสียฟันในผู้สูงอายุ

การดูแลสุขอนามัยช่องปากที่ไม่ดีตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้แบคทีเรียสร้างกรดขึ้นมาบนพื้นผิวของฟัน เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคฟันผุ และหากเกิดการการลุกลามไปถึงโพรงประสาทฟันจนรักษาไม่ได้ก็จะสูญเสียฟันไปในที่สุด

โรคเหงือกอักเสบ ซึ่งเกิดจากคราบจุลินทรีย์ที่สะสมไว้นานและเกิดเป็นหินปูน เชื้อโรคที่เกาะบนหินปูนนี้จะผลิตสารพิษและเกิดการอักเสบขึ้น หากทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาในผู้ป่วยบางรายจะกลายเป็น “โรคปริทันต์อักเสบ” (Periodontitis) ซึ่งทำลายเนื้อเยื่อและกระดูกอันเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียฟัน

ผู้สูงอายุบางรายมีโรคประจำตัวและต้องรับประทานยาซึ่งอาจทำให้ร่างกายผลิตน้ำลายน้อยลง ช่องปากแห้ง และเกิดฟันผุจนอาจสูญเสียฟันได้

ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องว่าต้องพบทันตแพทย์เมื่อมีอาการ หากแต่ควรพบทันตแพทย์ทุก 6-12 เดือน

ผลกระทบจากการสูญเสียฟัน

การสูญเสียฟันนั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบดเคี้ยวอาหาร การกัด และการกลืนอาหาร ทำให้ผู้สูงอายุได้รับสารอาหารไม่ครบทั้ง 5 หมู่ ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม ทำให้ร่างกายอ่อนแอและเจ็บป่วยง่าย นอกจากนี้ยังส่งผลให้ความสูงของใบหน้าลดลงเนื่องจากไม่มีฟันมารองรับ ใบหน้าเหี่ยวย่น เกิดการพูดไม่ชัด และอาจทำให้เกิดความกังวลในการเข้าสังคม

การดูแลสุขภาพฟัน

เริ่มต้นได้ด้วยการทำความสะอาดช่องปากอย่างสม่ำเสมอ แปรงฟันตามสูตร 222 ของกรมอนามัย คือ แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์นานครั้งละ 2 นาที อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หลังแปรงฟันควรงดขนมหวานและน้ำอัดลม 2 ชั่วโมง นอกจากนี้ควรทำความสะอาดบริเวณซอกฟันด้วยไหมขัดฟัน และหากมีช่องว่างระหว่างซี่ฟันควรใช้แปรงซอกฟันทำความสะอาดเสริมด้วย

และควรหมั่นพบทันตแพทย์ทุก 6-12 เดือน เพื่อสุขภาพที่ดีของช่องปาก มิใช่เพียงแต่ไปพบทันตแพทย์เมื่อมีปัญหา เเต่เป็นการดูเเลและป้องกันเพื่อสุขภาพช่องปากและฟันที่ดี หากรู้สึกว่ามีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นในช่องปากควรรีบไปพบทันตแพทย์โดยทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เนื่องจากปัญหาเล็กน้อย ที่แก้ไขง่ายอาจลุกลามเป็นปัญหาใหญ่และรักษายากยิ่งขึ้น

ในผู้สูงอายุบางรายที่ใส่ฟันเทียมหรือฟันปลอม ควรถอดออกมาทำความสะอาดหลังรับประทานอาหารทุกมื้อ ก่อนนอนต้องถอดออกแช่น้ำสะอาด และควรไปพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อตรวจสภาพฟัน เหงือก รวมทั้งเนื้อเยื่อในช่องปาก และซ่อมเสริมฟันเทียมให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดีอยู่เสมอไม่หลวมหรือคมจนเหงือกและลิ้นเป็นแผล

การดูแลสุขภาพช่องปากที่ดีอย่างต่อเนื่องควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจอย่างจริงจัง เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างพฤติกรรมสุขภาพช่องปากที่เหมาะสม ลดการเกิดโรคในช่องปาก ที่อาจกลายเป็นปัญหาการสูญเสียฟันในวัยผู้สูงอายุตามมาได้

 

Reference
  1. Bangkok Hospital. โรคฟันผุ [อินเตอร์เนต]. [เข้าถึงเมื่อ2020 Jan 15]. เข้าถึงได้จาก: https://www.bangkokhospital.com/th/disease-treatment/dental-caries
  2. Bangkok Hospital. โรคปริทันต์อักเสบ [อินเตอร์เนต]. [เข้าถึงเมื่อ 15มกราคม2563]. เข้าถึงได้จาก: https://www.bangkokhospital.com/th/disease-treatment/periodontitis
  3. Honestdocs. 10 สาเหตุหลักของการสูญเสียฟัน [อินเตอร์เนต]. 2562 [เข้าถึงเมื่อ 15มกราคม2563] เข้าถึงได้จาก: https://www.honestdocs.co/ten-main-causes-of-tooth-loss
  4. วิกุล วิสาลเสสถ์, นนทินี ตั้งเจริญดี. คู่มือฟันสะอาดเหงือกแข็งแรง. สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย; 2560  [เข้าถึงเมื่อ 15มกราคม2563]. เข้าถึงได้จาก: http://dental2.anamai.moph.go.th/ewt_dl_link.php?nid=1798&filename=dental_health_media
Share:

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved