สรุปสิ่งที่ควรรู้ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทยเป็นอันดับต้น ๆ สาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) ซึ่งการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ และการฉีดวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์ เป็นสองวิธีสำคัญในการป้องกันมะเร็งร้ายนี้ได้ ในบทความนี้จะมาสรุปสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
ทำไมเราควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ?
มะเร็งปากมดลูก มีสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อไวรัส HPV ซึ่งการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก จะเป็นการตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกก่อนที่จะเกิดอาการผิดปกติ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จะเป็นวิธีสำคัญในการป้องกันมะเร็งร้ายชนิดนี้
- ค้นหาเซลล์มะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มแรก : การตรวจคัดกรองสามารถช่วยให้พบมะเร็งปากมดลูกได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งมีโอกาสรักษาหายสูง
- เพิ่มโอกาสในการรักษา : เมื่อตรวจพบมะเร็งปากมดลูกระยะแรก แพทย์สามารถเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม และมีโอกาสรักษาหายมากขึ้น
- ป้องกันมะเร็งลุกลาม : การตรวจคัดกรอง ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบเซลล์ที่ผิดปกติก่อนที่จะพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งได้
- ลดค่าใช้จ่าย : การรักษามะเร็งระยะเริ่มต้นมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรักษามะเร็งระยะลุกลาม
- สร้างความมั่นใจ : การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้ผู้หญิงรู้สึกมั่นใจและปลอดภัยในสุขภาพตัวเอง
ใครบ้างที่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ?
- ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรจะเริ่มตรวจครั้งแรกตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไป
- ผู้หญิงที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ควรจะตรวจตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป
- ผู้หญิงที่แต่งงานเมื่ออายุน้อย
- ผู้หญิงที่คลอดบุตรหลายคน
- ผู้หญิงที่มีคู่นอนหลายคน
- ผู้หญิงที่มีอาการตกขาวผิดปกติ เช่น มีกลิ่นเหม็น มีเลือดปน
- ผู้หญิงที่มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดภายหลังการมีเพศสัมพันธ์ โดยไม่ทราบสาเหตุ
- ผู้หญิงที่มีประวัติในครอบครัว เช่น มีญาติเป็นมะเร็งปากมดลูก
3 วิธีตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เป็นวิธีสำคัญในการป้องกันมะเร็งชนิดนี้ได้ ดังนั้นผู้หญิงทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในปัจจุบันมีวิธีการตรวจที่นิยมใช้อยู่ 3 วิธีหลัก ๆ ดังนี้
1. การตรวจแปปเสมียร์ (Pap Smear)
วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบบดั้งเดิม โดยใช้เครื่องมือลักษณะคล้ายไม้พายเก็บเซลล์จากปากมดลูกก่อนส่งตรวจไปห้องปฏิบัติการเพื่อหาเซลล์ที่ผิดปกติ หรือเซลล์ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง เป็นวิธีการตรวจคัดกรองที่ไม่เจ็บ และใช้เวลาไม่นาน
2. การตรวจตินแพร็พ แป๊บ เทสต์ (ThinPrep Pap Test)
การตรวจหาความเสี่ยงโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยการเก็บตัวอย่างเซลล์ด้วยของเหลว โดยในขั้นตอนการตรวจมะเร็งปากมดลูกจะใช้แปรงขนาดเล็กเก็บเซลล์เยื่อบุผิวจากบริเวณปากมดลูกไว้ในน้ำยารักษาสภาพเซลล์ และได้ตัวอย่างเซลล์ครบถ้วน ก่อนส่งไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ โดยผลตรวจที่ได้จะละเอียด แม่นยำ และใช้เวลารอผลสั้นกว่าการตรวจ Pap Smear เป็นวิธีการตรวจที่ไม่รู้สึกเจ็บ แต่อาจมีความไม่สบายตัวเกิดขึ้นในบริเวณจุดซ่อนเร้นได้บ้าง
3. การตรวจมะเร็งปากมดลูกแบบเจาะลึกหาเชื้อ HPV (ThinPrep+ HPV DNA)
วิธีการตรวจมะเร็งปากมดลูกแบบเจาะลึกระดับ DNA โดยการใช้น้ำยาหรือสารเคมีมาช่วยในการขจัดเซลล์เนื้อเยื่ออื่น ๆ ที่ไม่ใช่เซลล์มะเร็งออกไป ก่อนค้นหาเซลล์มะเร็งตั้งแต่ในระยะแรกที่ติดเชื้อ HPV จะช่วยให้สามารถป้องกันและรักษาเชื้อ HPV ได้ก่อนที่เชื้อจะพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ ซึ่งวิธีนี้มีความแม่นยำถึง 95-99%
ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก HPV DNA จะไม่รู้สึกเจ็บปวด และใช้เวลาตรวจเพียง 15-20 นาทีเท่านั้น
การป้องกันมะเร็งปากมดลูกด้วยวัคซีน HPV
นอกจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกประจำปีแล้ว การได้รับวัคซีน HPV ก็เป็นวิธีสำคัญในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งควรทำในช่วงวัยที่เหมาะสม โดยสามารถฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุระหว่าง 9-26 ปี จะช่วยในการป้องกันเชื้อลุกลาม และป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้ วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ เป็นวัคซีนที่จะช่วยป้องกันเชื้อ HPV สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58 ช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกและหูดหงอนไก่ได้ถึง 99% อีกทั้งยังช่วยป้องกันมะเร็งปากช่องคลอด ทวารหนัก ช่องปาก และลำคอได้ด้วย
โปรแกรมการฉีดวัคซีน
- สำหรับเด็กที่มีอายุ 9-14 ปี ฉีดเพียง 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 6-12 เดือน
- สำหรับผู้ที่มีอายุ 15-45 ปี ฉีด 3 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 1 เดือน และเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 2 เดือน และห่างจากเข็มแรกประมาณ 6 เดือน
\
การเตรียมตัวก่อนการตรวจมะเร็งปากมดลูก
เพื่อให้การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ควรเตรียมตัวดังนี้
- จองคิวล่วงหน้า โทรไปนัดหมายกับแพทย์หรือคลินิก
- เตรียมข้อมูล พร้อมจดบันทึกประวัติการมีเพศสัมพันธ์ ช่วงเวลาที่มีประจำเดือน ยาที่ทาน โรคประจำตัว และการผ่าตัดที่เคยผ่านมา
- ก่อนตรวจภายในสามารถกินอาหารและน้ำได้ปกติ ไม่จำเป็นต้องงดอาหารและน้ำเหมือนตรวจร่างกาย เพราะไม่มีผลใด ๆ กับการตรวจภายใน
- อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด
- สวมใส่เสื้อผ้าที่สบาย สะดวกต่อการถอด
- ควรปัสสาวะออกให้หมดก่อนรับการตรวจภายใน
- งดการมีเพศสัมพันธ์ก่อนตรวจภายในอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง เพราะอาจส่งผลต่อการตรวจภายในได้
โรคมะเร็งปากมดลูก เป็นโรคร้ายที่ไม่ควรมองข้าม โดยเราสามารถตรวจคัดกรอง ป้องกัน ก่อนการเกิดโรคร้ายในอนาคตได้ง่าย ๆ เพียงเข้ามาที่ BDMS Wellness Clinic กับแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี ThinPrep และ HPV DNA Cobas Test โปรแกรมตรวจสุขภาพเชิงลึกที่ละเอียดถึงระดับเซลล์ (Regenerative Signature) โปรแกรมพิเศษที่จะตรวจและออกแบบแผนการรักษาที่เหมาะสมสำหรับคุณโดยเฉพาะ
สนใจนัดหมายแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพและวางแผนการรักษาได้เลย ที่เบอร์ 02-826-9999 หรือ LINE Official @bdmswellnessclinic
ข้อมูลอ้างอิง
- ทำความรู้จัก “วัคซีน HPV 9 สายพันธุ์”. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 จาก https://www.paolohospital.com/th-TH/center/Article/Details/ทำความรู้จักวัคซีนป้องกัน-HPV-ชนิด-9-สายพันธุ์
- ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มีกี่วิธี ควรเลือกตรวจด้วยวิธีไหน. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 จาก https://www.bnhhospital.com/th/article/ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมด/
- ถามตอบเรื่องวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ที่ผู้หญิงต้องรู้. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 จาก https://www.bangkokhospital.com/content/q-n-a-about-the-hpv-vaccine-9-strains