ติดต่อ +66 2 826 9999
Mon - Fri 07:00 - 20:00
Sat - Sun 07:00 - 17:00

วันมะเร็งโลก 2566

คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
-
04 ก.พ. 2566
-
มะเร็ง ป้องกันได้ ด้วยการตรวจคัดกรอง

      ในปี พ.ศ. 2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง สูงมากถึงเกือบ 10 ล้านคน และในปีเดียวกันมีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 18.1 ล้านคน โดยพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมากที่สุด ที่จำนวน 2.3 ล้านคน รองลงมาเป็นผู้ป่วยมะเร็งปอด ที่จำนวน 2.2 ล้านคน 

      การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงมะเร็ง อย่างการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ขาดการออกกำลังกาย และมลพิษทางอากาศ รวมถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลงได้สูงถึง 30-50% เพราะหากค้นพบความผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อเข้ารับการรักษาก่อนเข้าสู่ภาวะลุกลาม มี่ส่วนช่วยลดโอกาสในการเสียชีวิต

      เนื่องจากมะเร็งมักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น การตรวจคัดกรองมะเร็งจึงมีส่วนช่วยคัดกรองความเสี่ยงของโรคมะเร็งได้ ซึ่งในปัจจุบันมีการตรวจหลากหลายวิธี ดังต่อไปนี้

 

1. การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor marker) จากเลือด

สามารถช่วยคัดกรองความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิด เช่น

  • ค่า Alpha-fetoprotein (AFP) ที่มักมีค่าสูงกว่าปกติในผู้ป่วยมะเร็งตับ (Hepatocellular carcinoma) รวมถึงมะเร็งของรังไข่ หรือ อัณฑะ ชนิด embryonal cell carcinoma
  • ค่า Carcinoembryonic antigen (CEA) ซึ่งมักสูงผิดปกติผู้ป่วยมะเร็งของระบบทางเดินอาหารต่างๆ, มะเร็งตับอ่อน, มะเร็งปอด, มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม โดยเฉพาะ มะเร็งลำไส้ใหญ่ จะพบ ค่า CEA สูง บ่อยกว่ามะเร็งชนิดอื่นๆ
  • ค่า Prostate-specific antigen (PSA) ในเพศชายเพื่อดูความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากและภาวะต่อมลูกหมากโตที่ไม่ใช่มะเร็ง (benign prostatic hyperplasia, BPH)
  • ค่า Cancer antigens (CA15-3) เพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านมในผู้หญิง 
  • ค่า Cancer antigens (CA125) เพื่อคัดกรองมะเร็งรังไข่ชนิด non-mucinous type
  • ค่า Cancer antigens (CA19-9) เพื่อคัดกรองมะเร็งตับอ่อน และมะเร็งของท่อน้ำดี

 2. การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test)

เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดเข้าไปในช่องคลอด เพื่อเก็บเซลล์จากมดลูกส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติ หรือเซลล์ที่อาจพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็ง รวมถึงการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV (Human papillomavirus) ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ โดยแนะนำให้ผู้หญิงเข้ารับการตรวจแปบสเมียร์ภายหลังเริ่มมีเพศสัมพันธ์ 3 ปี หรือเมื่อมีอายุครบ 25 ปี และควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก 1-2 ปี

3. การตรวจแมมโมแกรม (Mammogram)

เป็นการถ่ายภาพเต้านม สามารถแยกความแตกต่างของเนื้อเยื่อต่างๆและไขมันได้ เพื่อค้นหาความผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการตรวจพบหินปูนในเต้านม แนะนำให้ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เข้ารับการตรวจแมมโมแกรมทุกปี

4. การตรวจ EDIM (Epitope Detection in Monocytes)

เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ช่วยในการคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งในระยะเริ่มแรก (Early Detection Cancer) โดยใช้การตรวจเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดโมโนไซต์ที่ถูกกระตุ้นกลายเป็นแมคโครฟาจ (Macrophage) ซึ่งทำหน้าที่จับกินสิ่งแปลกปลอมทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย เซลล์เสื่อมสภาพ รวมถึงเซลล์มะเร็ง จึงสามารถพบชิ้นส่วนของเซลล์ที่ผิดปกติอยู่ภายในเซลล์แมคโครฟาจได้ ส่วนสำคัญในวิธีการตรวจวัดนี้จะใช้ตัวบ่งชี้ 2 ตัว คือ DNaseX  และ TKTL1 Gene เพื่อนำมาคำนวณเป็นคะแนน ใช้ดูความเสี่ยงของการมีเซลล์ผิดปกติที่มีโอกาสพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งได้

 

แม้ว่าโรคมะเร็งจะเป็นโรคที่คุกคามชีวิตของมนุษย์ ต้องใช้ทั้งเงินและเวลาในการดูแลรักษายาวนาน แต่หากเราปรับวิถีชีวิต ดูแลสุขภาพร่างกาย และเข้ารับการตรวจสุขภาพและคัดกรองโรคมะเร็งอย่างสม่ำเสมอ ก็จะลดโอกาสการเสียชีวิตและเจ็บป่วยจากโรคมะเร็งได้ เพื่อเราจะมีชีวิตยืนยาวอย่างมีคุณภาพ

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก BDMS Wellness Clinic​
LINE: @bdmswellnessclinic or https://lin.ee/Z4So1yQ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
  • Cancer of any site - cancer stat facts [Internet]. SEER. [cited 2023Jan17]. Available from: https://seer.cancer.gov/statfacts/html/all.html
  • Worldwide cancer data: World cancer research fund international [Internet]. WCRF International. 2022 [cited 2023Jan17]. Available from: https://www.wcrf.org/cancer-trends/worldwide-cancer-data/
  • Cancer [Internet]. World Health Organization. World Health Organization; [cited 2023Jan17]. Available from: https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/cancer
  • Chittithaworn S, Charakorn C, Kongsawatvorakul C. Cervical cancer screening guidelines: An updated review. Thai Journal of Obstetrics and Gynaecology. 2021:186-90.

 

Share:

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved