ติดต่อ +66 2 826 9999
Mon - Fri 07:00 - 20:00
Sat - Sun 07:00 - 17:00

“เบิร์นเอาท์” ส่งผลร้ายต่อคนวัยทำงานทุกระดับ

คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
-
02 พ.ค. 2567
-

 

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เผยคนวัยทำงานที่อาศัยในกรุงเทพมหานคร 12% อยู่ในภาวะเบิร์นเอาท์ และอีก 57% มีความเสี่ยงสูงที่จะเบิร์นเอาท์

 

เบิร์นเอาท์ คืออะไร?

ภาวะเบิร์นเอาท์ (Burn-out Syndrome) หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน เป็นภาวะความผิดปกติที่เกิดจากการทำงาน (Occupational Phenomenon) เนื่องจากความเหนื่อยล้า ความเครียด และความกดดันสะสมต่อเนื่อง

เมื่อปี พ.ศ. 2562 ภาวะเบิร์นเอาท์ ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นภาวะที่ควรต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ เพราะแม้จะไม่ใช่โรค (Medical Condition) แต่หากปล่อยไว้อาจนำไปสู่ความวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า ซึ่งยิ่งทำให้ปัญหาสุขภาพจิตรุนแรงขึ้นได้

สังเกตอาการเบิร์นเอาท์

อาการเบิร์นเอาท์สามารถส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) ของบุคคล WHO ได้นิยามลักษณะอาการเบิร์นเอาท์ด้วย 3 ลักษณะ ได้แก่

  1. รู้สึกเหนื่อยล้าทางอารมณ์ และหมดพลัง (Emotional Exhaustion)
  2. เหินห่างจากงานและเพื่อนร่วมงาน หรือรู้สึกอคติ และมีทัศนคติเชิงลบต่องาน (Cynicism)
  3. ความสามารถและประสิทธิภาพการทำงานลดลง (Professional Efficacy)

แต่ผลเสียมักจะไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น อาการเบิร์นเอาท์ยังนำไปสู่ปัญหาทางอารมณ์และร่างกายหลายอย่าง อาทิ ไม่มีสมาธิ รู้สึกเบื่อหน่าย โรคเครียด โรคนอนไม่หลับ อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต อาทิ โรคซึมเศร้า วิตกกังวล บางรายมีพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น เข้านอนดึก สูบบุหรี่ ติดสุรา หรือพึ่งพายาเสพติด

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน PLOS ONE ปี พ.ศ. 2560 พบว่าภาวะเบิร์นเอาท์จากการทำงาน นำไปสู่โรคเรื้อรัง เช่น ปวดกล้ามเนื้อตามร่างกาย โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวานประเภทที่ 2

โควิด-19 ตัวเร่งเบิร์นเอาท์

ภาวะเบิร์นเอาท์ยิ่งแย่มากขึ้นช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การศึกษาโดย Indeed เว็บไซต์หางานที่ใหญ่ที่สุดของโลก ทำแบบสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2564 พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่งหนึ่ง (52%) รู้สึกหมดไฟ และมากกว่า 2 ใน 3 (67%) เชื่อว่าความรู้สึกดังกล่าวแย่ลงจากช่วงการแพร่ระบาด

โควิด-19 ส่งผลต่อพนักงานโดยเพิ่มความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า อีกทั้งการทำงานที่บ้าน หรือ Work from home ทำให้หลายคนไม่สามารถตัดขาดระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวออกจากกันได้ เพราะขอบเขตที่ไม่ชัดเจนจากการทำงานที่บ้าน

ไม่เพียงแค่พนักงาน แต่ ‘CEO’ เองก็หลีกเลี่ยงภาวะเบิร์นเอาท์ไม่ได้เช่นกัน

​ด้วยภาระงานอันหนักอึ้ง ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน การต้องรับมือกับคนหลายระดับ และเผชิญหน้ากับความท้าทายตลอดเวลา ทำให้ระดับผู้บริหาร ผู้จัดการ และหัวหน้างาน หนีไม่พ้นภาวะเบิร์นเอาท์ ผลสำรวจจาก Deloitte ที่ทำการสำรวจพนักงานและผู้บริหารระดับ C-suit จำนวนมากกว่า 2,100 คน พบว่า เกือบ 70% ของผู้บริหารระดับ C-suit ต้องการลาออกจากงาน เพื่อมองหางานที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

​ผลสำรวจ “Year-End CEO Turnover Report” จาก Challenger, Grey & Christmas บริษัทฝึกสอนผู้บริหารและการบริหารธุรกิจ เผยว่า ในปี พ.ศ. 2566 ซีอีโอลาออกเพิ่มขึ้น 55% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และผู้บริหารระดับสูงในสหรัฐอเมริกา จำนวน 19 คนเสียชีวิตในตำแหน่ง

ทำอย่างไรเมื่อเบิร์นเอาท์

  1. หาสาเหตุที่แท้จริง – ภาวะเบิร์นเอาท์ของแต่ละคนมีสาเหตุที่ไม่เหมือนกัน การค้นหาสาเหตุช่วยให้แก้ไขได้อย่างตรงจุด หากเกิดจากภาระงานที่หนักเกินไป ลองรู้จักปฏิเสธงานที่กินเวลา หรือไม่เข้าประชุมที่ตนเองไม่ได้เกี่ยวข้อง หรือหากงานไม่ได้มีเป้าหมายชัดเจน ลองกำหนดเป้าประสงค์ จะทำให้เห็นความสำเร็จที่ชัดเจนขึ้น
  2. หันมาดูแลสุขภาพ – ภาวะเบิร์นเอาท์ทำให้เกิดความเครียดสะสม ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิต การหันมาดูแลสุขภาพ อย่างการนอนหลับที่เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุข เช่น เอ็นโดรฟิน เซโรโทนิน เพิ่มสูงขึ้น อย่างแรกแนะนำว่า พยายามนอนหลับให้เพียงพอ เพราะการนอนช่วยลดระดับความเครียด ส่งผลดีต่อสุขภาพจิต และความสามารถในการเรียนรู้ของสมอง เป็นช่วงเวลาที่สมองจะได้ทำความสะอาดตัวเองเพื่อกำจัดสารพิษที่สะสมระหว่างวัน การนอนหลับที่เพียงพอยังทำให้เราพร้อมที่จะตื่นมาเผชิญหน้ากับเรื่องท้าทายในวันใหม่อีกด้วย
  3. หาเวลาชาร์จพลังให้ตัวเอง – ออกจากสิ่งแวดล้อม สถานที่ และบรรยากาศเดิม ๆ อาจออกไปท่องเที่ยว ทำกิจกรรมที่แตกต่างออกไปจากเดิม ให้ธรรมชาติช่วยบำบัดจิตใจ ไม่เพียงแต่ร่างกายได้พักผ่อน แต่หัวใจได้ปล่อยวางบ้าง
  4. ทำสมาธิ ฝึกลมหายใจ – การฝึกสมาธิช่วยให้มีสติและรับรู้ตัวเองมากขึ้น การอยู่กับลมหายใจเข้าออก ช่วยทำให้ไม่ฟุ้งซ่าน จิตใจสงบ และอยู่กับปัจจุบัน รวมถึงการฝึกมองในแง่บวก และเห็นคุณค่าของตนเอง
  5. ฝึกทักษะใหม่ ๆ – มองหากิจกรรม หรือ เกมส์กีฬาที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อช่วยให้ได้ผ่อนคลาย และเพิ่มทักษะให้ตัวเอง เช่น ปีนเขา ระบายสี เรียนภาษา หรือลงคอร์สเรียนที่ชอบ ทำให้ได้ทั้งสังคมใหม่ ๆ และเพิ่มประสบการณ์ไปพร้อมกัน

อย่างไรก็ตาม นี้เป็นเพียงการแก้ไขที่ตัวเราเอง แต่หากไม่สามารถที่จะจัดการด้วยตัวเองได้แล้ว ลองพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน หรือขอความช่วยเหลือจากแพทย์หรือผู้ชำนาญการ เพื่อหาวิธีรับมือที่เหมาะสม

 

แหล่งอ้างอิง
  1. Burn-out an “Occupational phenomenon”: International Classification of Diseases [Internet]. World Health Organization; [cited 2024 Mar 8]. Available from: https://www.who.int/news/item/28-05-2019-burn-out-an-occupational-phenomenon-international-classification-of-diseases
  2. Threlkeld K. Employee burnout report: Covid-19’s impact and 3 strategies to ... [Internet]. Indeed; 2021 [cited 2024 Mar 8]. Available from: https://uk.indeed.com/lead/preventing-employee-burnout-report
  3. Challenger G & C. 2020 year-end CEO turnover report: Exits down 20% over record-setting 2019; Women’s gains highest on record [Internet]. Challenger, Gray & Christmas, Inc.; 2023 [cited 2024 Mar 8]. Available from: https://www.challengergray.com/blog/year-end-ceo-turnover-report-exits-down-20-over-record-setting-2019-womens-gains-highest-on-record/
  4. Salvagioni DA, Melanda FN, Mesas AE, González AD, Gabani FL, Andrade SM. Physical, psychological and occupational consequences of job burnout: A systematic review of prospective studies. PLOS ONE. 2017 Oct 4;12(10). doi:10.1371/journal.pone.0185781
  5. เพ็ญพิชชา เกตุชัยโกศล. ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) ของพนักงานบริษัทเอกชน ในกลุ่ม Generation Y [สารนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต]. กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยมหิดล; 2564.

 

Share:

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved