ติดต่อ +66 2 826 9999
Mon - Fri 07:00 - 20:00
Sat - Sun 07:00 - 17:00

ไขปริศนา โรคนอนไม่หลับ ฝันร้ายแห่งยามราตรี

คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
-
06 มี.ค. 2567
-

 

โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ผู้คนมีปัญหาโรคนอนไม่หลับ 33-50% ของประชากรทั่วโลก ปัญหาเกี่ยวกับโรคนอนไม่หลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอายุ และพบมากในผู้หญิง ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่ทำงานเป็นกะและผู้มีรายได้น้อย โดยผู้ที่มีปัญหาโรคนอนไม่หลับ จะมีลักษณะต่าง ๆ ตั้งแต่นอนหลับได้ยาก ไม่สามารถนอนหลับได้อย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงนอนหลับได้ไม่สนิท ปัญหาในการนอนหลับนี้ มักส่งผลต่อกิจวัตรประจำวันในเวลากลางวัน เช่น อ่อนเพลีย ขาดสมาธิ ความจำไม่ดี หงุดหงิดง่าย ง่วงซึมในเวลากลางวัน รวมถึงยังเพิ่มความเสี่ยงของอุบัติเหตุในขณะทำงานหรือในขณะขับขี่ยานพาหนะ

โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) สามารถแบ่งได้ตาม The International Classification of Sleep Disorders (ICSD-3) เป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. Chronic insomnia disorder โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง มีเกณฑ์การวินิจฉัยดังนี้
    1. เกิดอาการที่เกี่ยวข้องกับการนอนไม่หลับ อย่างน้อย 1 ข้อ ได้แก่ 
      • เริ่มต้นนอนหลับได้ยาก
      • ไม่สามารถนอนหลับได้อย่างต่อเนื่อง
      • ตื่นก่อนเวลาที่ต้องการ
      • รู้สึกต่อต้านที่จะเข้านอนตามตารางเวลาที่เหมาะสม
      • มีปัญหาการนอนหลับหากปราศจากความช่วยเหลือของผู้ปกครองหรือผู้ดูแล
    2. เกิดผลกระทบที่มาจากการนอนไม่หลับ อย่างน้อย 1 ข้อ ได้แก่ 
      • อ่อนเพลียหรือไม่สบายตัว 
      • มีสติ สมาธิ หรือความจำแย่ลง
      • ความสามารถทางสังคม ครอบครัว อาชีพหรือวิชาการลดลง 
      • อารมณ์แปรปรวนหรือหงุดหงิด 
      • ง่วงนอนตอนกลางวัน 
      • มีปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น สมาธิสั้น หุนหันพลันแล่น ความก้าวร้าว
      • มีแรงจูงใจ พลังงาน หรือความคิดริเริ่มลดลง 
      • เสี่ยงต่อการเกิดข้อผิดพลาดหรืออุบัติเหตุ 
      • กังวลหรือไม่พอใจเกี่ยวกับการนอนหลับ
    3. เกิดปัญหาการนอนหลับหรือตื่นที่ไม่สามารถอธิบายสาเหตุได้ หรือไม่ได้เกิดจากมีเวลานอนไม่เพียงพอ
    4. เกิดอาการที่เกี่ยวข้องกับการนอนไม่หลับและผลกระทบที่มาจากการนอนไม่หลับ อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์
    5. เกิดอาการที่เกี่ยวข้องกับการนอนไม่หลับและผลกระทบที่มาจากการนอนไม่หลับ ต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 3 เดือน
    6. เกิดปัญหาการนอนหลับที่ไม่สามารถอธิบายได้ จากโรคเกี่ยวกับการนอนหลับอื่น ๆ

 

2. Short-term insomnia disorder โรคนอนไม่หลับระยะสั้น

มีเกณฑ์การวินิจฉัยเช่นเดียวกับโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง แต่ระยะเวลาที่มีอาการน้อยกว่า 3 เดือน มักเกิดจากความเครียด หรือความเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ในชีวิต เช่น การย้ายที่อยู่ มีปัญหาเรื่องงานหรือความสัมพันธ์ ความเจ็บป่วยทางร่างกาย อาการมักจะดีขึ้น หลังจากสามารถแก้ไขสาเหตุ หรือปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้ หากภาวะนี้ดำเนินไปเกินกว่า 3 เดือน โรคนอนไม่หลับระยะสั้น จะกลายเป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง

 

3. Other insomnia disorder โรคนอนไม่หลับแบบอื่น ๆ ที่ไม่ตรงกับเกณฑ์วินิจฉัยของ 2 ประเภทแรก

 

การรักษาโรคนอนไม่หลับ แบ่งเป็น

  1. การรักษาดูแลสุขภาพทางใจ (Psychological and behavioral treatment) เป็นการปรับพฤติกรรมบางอย่างที่ส่งผลต่อการนอนหลับ เช่น การตื่นอยู่บนเตียงนาน ๆ ใช้ความพยายามในการนอนหลับเป็นอย่างมาก จึงเพิ่มความหงุดหงิดและวิตกกังวลที่ตัวเองนอนไม่หลับ เช่น Cognitive behavioral therapy (CBT), Brief therapies for insomnia (BTIs), Sleep restriction therapy, Relaxation therapy เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการที่ช่วยเปลี่ยนทัศนคติที่รบกวนการนอนหลับ
  2. การรักษาด้วยการใช้ยา (Pharmacologic treatment) องค์การอนามัยโลกได้ให้การรับรองยาที่ใช้รักษาโรคนอนไม่หลับในกลุ่มต่าง ๆ เช่น Benzodiazepines, Non-benzodiazepines,  Melatonin Receptor Agonists หรือยารักษาโรคซึมเศร้าในขนาดต่ำ บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยซื้อยาในกลุ่ม Antihistamines มารับประทานเอง เพื่อรักษาโรคนอนไม่หลับ แต่การใช้ยาชนิดนี้ต่อเนื่องยาวนาน อาจส่งผลข้างเคียงได้ เนื่องจากยามีฤทธิ์ Anticholinergic อาจทำให้ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ม่านตาขยาย

 

การสร้างลักษณะนิสัยการนอนหลับที่ดี จึงเป็นสิ่งสำคัญมากในการดูแลและป้องกันไม่ให้โรคนอนไม่หลับนี้ มีผลต่อการนอนอันเป็นช่วงเวลาทองที่กินระยะเวลาถึง 1 ใน 3 ของชีวิตต่อไป ซึ่งเราสามารถทำได้ ดังนี้

  1. รักษาเวลาเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา แม้จะเป็นวันหยุด ก็ควรตื่นนอนและเข้านอนตรงเวลา 
  2. ควบคุมสิ่งกระตุ้นที่อาจรบกวนการนอนหลับ ไปที่เตียงเฉพาะเวลาที่ง่วง ลุกจากเตียงเมื่อไม่สามารถนอนหลับได้ และใช้เตียงสำหรับการนอนเท่านั้น ไม่ทำงานหรือรับประทานอาหารบนเตียง
  3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรือเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ จะช่วยให้ร่างกายนอนหลับได้ดีขึ้น โดยไม่ควรออกกำลังกายก่อนเวลานอน 3 ชั่วโมง
  4. ปรึกษากับแพทย์ที่รักษาโรคประจำตัว เพื่อตรวจสอบอีกครั้งว่า มียาที่ส่งผลต่ออาการนอนไม่หลับหรือไม่
  5. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนการนอน การดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ ทั้งหมดนี้มีผลต่อคุณภาพการนอนหลับ
  6. หลีกเลี่ยงอาหารมื้อใหญ่ หรืออาหารที่ย่อยยาก ก่อนเวลาเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้อาการอึดอัด ท้องอืดหรือภาวะกรดไหลย้อน ทำให้นอนหลับไม่สนิท 
  7. หลีกเลี่ยงการงีบหลับในเวลากลางวัน
  8. สร้างบรรยากาศในห้องนอน ให้เหมาะสมกับการนอนหลับ มีอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่มีเสียงและแสงจากภายนอกรบกวน
  9. ฝึกผ่อนคลายก่อนเข้านอน อาจทำสมาธิ อ่านหนังสือ ฟังเพลงที่ทำให้รู้สึกสงบและผ่อนคลาย

 

แหล่งอ้างอิง
  • Schutte-Rodin S, Broch L, Buysse D, Dorsey C, Sateia M. Clinical guideline for the Evaluation and management of chronic insomnia in adults. Journal of Clinical Sleep Medicine. 2008;04(05):487–504. doi:10.5664/jcsm.27286.
  • Roth T. Insomnia: Definition, prevalence, etiology, and consequences. Journal of Clinical Sleep Medicine. 2007;3(5 suppl). doi:10.5664/jcsm.26929.
  • Edinger JD, Arnedt JT, Bertisch SM, Carney CE, Harrington JJ, Lichstein KL, et al. Behavioral and psychological treatments for chronic insomnia disorder in adults: An American Academy of Sleep Medicine Clinical Practice guideline. Journal of Clinical Sleep Medicine. 2021;17(2):255–62. doi:10.5664/jcsm.8986.
  • Sateia MJ. International Classification of Sleep Disorders-third edition. Chest. 2014;146(5):1387–94. doi:10.1378/chest.14-0970
  • Pin Arboledas G, Soto Insuga V, Jurado Luque MJ, Ferrández Gomariz C, Hidalgo Vicario I, Lluch Rosello A, et al. Insomnia in children and adolescents. A consensus document. Anales de Pediatría (English Edition). 2017;86(3). doi:10.1016/j.anpede.2016.06.002 
  • Mayo Clinic Staff. Insomnia [Internet]. Mayo Foundation for Medical Education and Research; 2016 [cited 2023 Nov 6]. Available from: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/insomnia/symptoms-causes/ syc-20355167#:~:text=Keep%20your%20bedtime%20and%20wake,Avoid%20or%20limit%20naps.

 

Share:

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved