ติดต่อ +66 2 826 9999
Mon - Fri 07:00 - 20:00
Sat - Sun 07:00 - 17:00

ข้อดี-ข้อเสียของกาแฟ

คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
-
03 ต.ค. 2565
-

กาแฟ เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของใครหลายคน จัดเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมและดื่มกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก หากดูจากสถิติในแต่ละปี ประชากรทั่วโลกดื่มกาแฟเฉลี่ยสูงถึงคนละ 42.6 ลิตร และตลาดธุรกิจกาแฟจัดได้ว่าใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ในกลุ่มเครื่องดื่ม 

ข้อมูลจาก STATISTA แสดงให้เห็นว่า ในปี 2021 เม็ดเงินในธุรกิจกาแฟมีมูลค่าสูงถึง 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ  และคาดว่าจะเติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 8.28% จนถึงปี 2025

หากมองในด้านโภชนาการ กาแฟดำ ที่ไม่ได้เติมส่วนผสมอย่างอื่น เช่น น้ำตาลหรือครีม จัดเป็นเครื่องดื่มที่มีพลังงานต่ำ กาแฟ 1 แก้ว (240 มล. หรือ 8 ออนซ์) มีพลังงานน้อยกว่า 5 กิโลแคลอรี เป็นแหล่งของสารอาหารต่าง ๆ เช่น โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และกรดโฟลิก อีกทั้งยังอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ มากมาย แต่สารซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดของกาแฟ คงหนีไม่พ้น คาเฟอีน ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นสมองและระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยทำให้คุณรู้สึกกระปรี้กะเปร่าและป้องกันอาการเมื่อยล้า 

ปริมาณคาเฟอีนรวมถึงสารต่าง ๆ ในกาแฟจะมากหรือน้อยขึ้นกับสายพันธุ์และกระบวนการผลิต หากเปรียบเทียบในปริมาณที่เท่ากัน กาแฟเอสเพรซโซ่ มีคาเฟอีน 64 มิลลิกรัมต่อ 30 มิลลิลิตร ส่วนกาแฟสำเร็จรูป มีคาเฟอีน 24 มิลลิกรัม ต่อ 30 มิลลิลิตร 

ปัจจุบันมีงานวิจัยมากมายที่แสดงให้เห็นถึงข้อดีและข้อเสียต่อสุขภาพจากการดื่มกาแฟ วันนี้เราจึงมาเล่าให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ

 

ข้อดีของกาแฟ ได้รับการวิจัยไว้ว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย ได้แก่
  1. ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease; CVD) มีงานวิจัยยืนยันว่าการดื่มกาแฟดำในปริมาณที่เหมาะสมช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ และยังสามารถลดการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดได้สูงถึง 21%
  2. ฤทธิ์ต้านมะเร็ง กาแฟมีสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การดื่มกาแฟสามารถลดความเสี่ยงของมะเร็งบางชนิด เช่น หากดื่มกาแฟวันละ 2 แก้ว ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งตับได้ถึง 43% และลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้ถึง 52%
  3. ลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน การดื่มกาแฟมีความสัมพันธ์กับการลดภาวะดื้อต่ออินสุลิน (Insulin Resistance) การดื่มกาแฟ 1 แก้วต่อวัน ช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวานได้ 6% และมีส่วนช่วยในการลดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน จากความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบ
  4. ช่วยลดโรคอ้วน กาแฟช่วยลดระดับฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ที่เกี่ยวข้องกับความหิว ช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมันในร่างกาย โดยคาเฟอีนช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงานของคนที่มีน้ำหนักตัวปกติ ได้ 29% และในคนอ้วนได้ 10%
  5. ลดความเสี่ยงของโรคทางสมอง เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน มีงานวิจัยพบว่า การดื่มกาแฟอย่างสม่ำเสมอ ช่วยลดความเสี่ยงและชะลอการเกิดโรคที่เกี่ยวกับสมองได้
  6. เพิ่มประสิทธิภาพการออกกำลังกาย หากได้รับคาเฟอีน 3-6 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม ช่วยเพิ่มสมรรถนะและความทนทานในการออกกำลังกายรูปแบบต่าง ๆ ได้

 

ข้อเสียของกาแฟ อย่างไรก็ตามกาแฟก็มีข้อควรระมัดระวังหลายอย่าง เช่น
  1. ร่างกายคนเราตอบสนองต่อกาแฟแตกต่างกัน ความสามารถในการกำจัดคาเฟอีนได้เร็วหรือช้านั้นมีความแตกต่างกันขึ้นกับรหัสพันธุกรรม CYP1A2 และ AHR ผู้ที่กำจัดคาเฟอีนได้ช้าอาจเกิดผลข้างเคียงจากการดื่มกาแฟ เช่น วิตกกังวล นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย คลื่นไส้ ปวดหัว มือสั่น หัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น 
  2. กาแฟไม่เหมาะกับหญิงตั้งครรภ์ มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การดื่มกาแฟ ตั้งแต่ 2 แก้วขึ้นไป เพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งได้ถึง 8% และหากเพิ่มเป็น 4-7 แก้วต่อวัน เพิ่มความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์เสียชีวิตหรือภาวะตายคลอด (Stillbirth) มากขึ้นถึง 80%
  3. กาแฟเย็นมักมีพลังงานสูงมาก แม้ว่าภายในเมล็ดกาแฟจะมีสารต่าง ๆ ที่สามารถช่วยเรื่องโรคอ้วนและโรคเบาหวานได้ แต่หากดื่มกาแฟที่เต็มไปด้วยน้ำตาลและครีม จะยิ่งซ้ำเติมให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น จากรายงานของกรมอนามัยพบว่ากาแฟใส่นมขนาด 20 ออนซ์ จะมีพลังงานมากกว่า 200 กิโลแคลอรี และน้ำตาลมากถึง 8-9 ช้อนชา จึงแนะนำให้ดื่มเป็นกาแฟดำไม่เติมน้ำตาล
  4. ส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับ ตามที่รู้กันว่าการดื่มกาแฟช่วยลดอาการง่วงนอน กระตุ้นให้สมองตื่น แต่การดื่มมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ร่างกายกำจัดคาเฟอีนได้ช้า ส่งผลให้นอนหลับไม่สนิทหรืออาจนอนไม่หลับเลยก็เป็นได้
  5. เพิ่มอาการทางจิตเวช แม้คาเฟอีนจะมีประโยชน์ช่วยเพิ่มความตื่นตัวและสมาธิให้ผู้ดื่มมากขึ้น แต่ควรระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีอาการตื่นตระหนกหรือโรคกลัวการเข้าสังคมอยู่เดิม เพราะการบริโภคคาเฟอีนมากเกินไปทำให้เกิดอาการคล้ายกับอาการผิดปกติทางจิตเวชได้ เช่น ความรู้สึกวิตกกังวล กระวนกระวายใจ และอาการทางจิต

 

กาแฟก็เหมือนกับอาหารชนิดอื่น ที่ให้คุณประโยชน์หากทานอย่างพอดี และให้โทษกับร่างกายได้หากรับประทานมากเกินไป ดังนั้นจึงควรดื่มอย่างเหมาะสม โดยเลือกรับประทานเป็นกาแฟดำ ไม่เกิน 2 แก้วต่อวัน เพื่อให้ได้รับประโยชน์และลดโอกาสการเกิดผลเสียต่อสุขภาพ

  

Reference
  1. Coffee - Worldwide | Statista Market Forecast [Internet]. Statista. 2021 [cited 8 September 2021]. Available from: https://www.statista.com/outlook/cmo/hot-drinks/coffee/worldwide
  2. Ding M. et al (2014) Long-term coffee consumption and risk of cardiovascular disease: a systematic review and a dose-response meta-analysis of prospective cohort studies. Circ, 129(6):643-59.
  3. Larsson, S. and Wolk, A., 2007. Coffee Consumption and Risk of Liver Cancer: A Meta-Analysis. Gastroenterology, 132(5), pp.1740-1745.
  4. Lee, P., Chan, W., Kwok, C., Wu, C., Law, S., Tsang, K., Yu, W., Yeung, Y., Chang, L., Wong, C., Wang, F. and Tse, L., 2019. Associations between Coffee Products and Breast Cancer Risk: a Case-Control study in Hong Kong Chinese Women. Scientific Reports, 9(1).
  5. Carlström, M. and Larsson, S., 2018. Coffee consumption and reduced risk of developing type 2 diabetes: a systematic review with meta-analysis. Nutrition Reviews, 76(6), pp.395-417.
  6. Guest, N., VanDusseldorp, T., Nelson, M., Grgic, J., Schoenfeld, B., Jenkins, N., Arent, S., Antonio, J., Stout, J., Trexler, E., Smith-Ryan, A., Goldstein, E., Kalman, D. and Campbell, B., 2021. International society of sports nutrition position stand: caffeine and exercise performance. Journal of the International Society of Sports Nutrition, 18(1).
  7. Wisborg, K., Kesmodel, U., Bech, B., Hedegaard, M. and Henriksen, B., 2003. Maternal Consumption of Coffee During Pregnancy and Stillbirth and Infant Death in the First Year of Life: Prospective Study. Obstetrical & Gynecological Survey, 58(8), pp.509-510.
  8. Clark, I. and Landolt, H., 2017. Coffee, caffeine, and sleep: A systematic review of epidemiological studies and randomized controlled trials. Sleep Medicine Reviews, 31, pp.70-78.
  9. Winston AP, Hardwick E, Jaberi N. Neuropsychiatric effects of caffeine. Advances in Psychiatric Treatment. Cambridge University Press; 2005;11(6):432–9.
Share:

Recommended Packages & Promotions

BWC Antioxidants Plus Customized Vitamin คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู

ตรวจวิเคราะห์ปริมาณวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระ 10 ชนิด​ พร้อมรับ วิตามินเฉพาะบุคคล 1 เดือ...

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved