อาการปวดฟันจากฟันผุทะลุโพรงประสาทเป็นอย่างไร รักษาอย่างไร
เช็กอาการปวดฟันเพราะฟันเป็นโพรงต้องรักษาอย่างไร
ใครที่ปวดฟันบ่อยอย่าชะล่าใจ เพราะถ้าปล่อยไว้ให้ฟันผุจนเป็นโพรง นอกจากจะรักษาหายยาก ยังเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาฟันผุทะลุโพรงประสาท ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิต แถมยังเสียบุคลิกภาพอีกด้วย
บทความนี้จะพาคุณไปรู้ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดฟันเป็นโพรง อาการ และยังมีแนวทางการรักษาไม่ว่าจะเป็นการอุดฟัน หรือการรักษารากฟันมาแนะนำกัน เพื่อให้คุณรู้ทันปัญหาและรีบรักษาได้อย่างทันท่วงที
รู้จักปัญหาฟันผุทะลุโพรงประสาท
ฟันผุทะลุโพรงประสาท เป็นหนึ่งในอาการฟันผุที่มีอาการรุนแรง เกิดจากการที่เราไม่ได้รักษาอาการฟันผุหรือไปอุดฟันแต่เนิ่น ๆ ทำให้ฟันถูกทำลายไปจนถึงบริเวณโพรงประสาทฟัน ซึ่งยิ่งปล่อยทิ้งไว้ก็จะยิ่งเป็นอันตรายมากขึ้น จนลุกลามไปยังฟันที่อยู่ใกล้เคียง และส่งผลกระทบต่ออวัยวะอื่น ๆ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา
อาการของฟันผุทะลุโพรงประสาท สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท
- ไม่มีอาการอักเสบหรือติดเชื้อ แต่จะมีอาการปวดเมื่อมีเศษอาหารมาติด หรือรับประทานอาหารร้อนหรือเย็นมากเกินไป
- มีอาการอักเสบหรือติดเชื้อ จะมีอาการปวด บวม แม้ว่าจะไม่มีเศษอาหาร หรือกินอาหารร้อนหรือเย็นไปก็ตาม
ฟันผุทะลุโพรงประสาทต้องรักษายังไง
ที่จริงแล้ว เราไม่ควรจะปล่อยให้ฟันเป็นโพรง หรือฟันผุทะลุโพรงประสาท เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยรวม ควรจะรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะดีกว่า อย่างไรก็ตาม หากว่าเราปล่อยปละละเลยจนฟันผุทะลุโพรงประสาท ทันตแพทย์จะแนะนำแนวทางในการรักษาดังต่อไปนี้
อุดฟัน
ในกรณีที่ฟันยังไม่ถูกทำลายมาก และยังสามารถรักษาฟันแท้ได้อยู่ ทันตแพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยการอุดฟัน โดยจะกรอเอาฟันส่วนที่ผุออก จากนั้นทำการอุดฟัน โดยทันตแพทย์จะรักษาส่วนที่ติดเชื้อก่อน โดยทำการขูดและตัดเอาเส้นประสาทที่ติดเชื้อออกไปให้หมด จากนั้นทำการอุดคลองรากฟันไม่ให้เชื้อโรคเข้ามา แล้วค่อยทำการอุดฟัน
หากว่าโพรงประสาทมีการติดเชื้อ แล้วเราไม่ได้ทำการรักษา การอุดฟันทับไปเลย อาจจะทำให้ปวดฟันมากยิ่งขึ้น และเป็นปัญหาในอนาคตได้
ถอนฟันและจัดฟันปิดช่องว่าง
ในกรณีที่ฟันเป็นโพรงจนไม่สามารถรักษาฟันแท้เอาไว้ได้ ทันตแพทย์จะแนะนำให้ถอนฟันแท้นั้นทิ้ง และหากว่าคนไข้มีปัญหาเรื่องฟันสบกัน หลังถอนฟันแล้วจะให้จัดฟันเพื่อปิดช่องว่างของฟันที่หายไป เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพช่องปากแบบองค์รวม
โดยปกติแล้วเวลาที่จัดฟัน ทันตแพทย์จะแนะนำให้ถอนฟันบางซี่เพื่อให้ฟันสามารถเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งที่เหมาะสม ดังนั้น หากว่าคนไข้ต้องถอนฟันและมีปัญหาเรื่องฟันสบหรือเก การจัดฟันก็จะช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาพฟันได้ในระยะยาว
ถอนฟันและใส่ฟันปลอม
แม้ว่าการถอนฟันจะเป็นวิธีที่ช่วยหยุดปัญหาอาการปวด แต่ก็เป็นวิธีรักษาที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมาได้ หากว่าเราถอนฟันแล้วไม่ใส่ฟันปลอมหรือรากฟันเทียม
ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า เวลาที่เราถอนฟันออกไป จะเกิดช่องว่างระหว่างฟันมากขึ้นกว่าปกติ ทำให้ฟันที่อยู่ข้างเคียงเอียงและล้ม ทำให้มีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยว และในอนาคตอาจจะทำให้มีปัญหาข้อต่อขากรรไกร ทำให้รูปหน้าเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น หากว่าเราจำเป็นต้องถอนฟัน เราจะต้องใส่ฟันปลอมเพื่อปิดช่องว่างบริเวณฟันที่หายไป
ปัจจุบันเราสามารถเลือกใส่ฟันปลอมได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบถอดได้ และแบบติดแน่น อย่างรากฟันเทียมหรือสะพานฟัน ซึ่งมีราคาที่ค่อนข้างสูง แต่ก็มีความใกล้เคียงกับฟันแท้ของเรา
รักษารากฟันและทำครอบฟัน
ในกรณีที่เรายังสามารถรักษารากฟันได้อยู่ ทันตแพทย์จะทำการรักษารากฟัน โดยกำจัดส่วนที่อักเสบออกไป จากนั้นฆ่าเชื้อ แล้วอุดคลองรากฟัน
หลังจากรักษารากฟันแล้ว หากเนื้อฟันที่ใช้ในการบดเคี้ยวเหลือน้อย ทันตแพทย์จะแนะนำให้ปักเดือยและทำครอบฟันเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มอายุการใช้งาน และรักษาประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวอาหารให้ดีเทียบเท่ากับฟันจริงอีกด้วย
วิธีดูแลสุขภาพฟันให้ปลอดภัยจากฟันผุทะลุโพรงประสาท
การดูแลสุขภาพช่องปากเป็นเรื่องสำคัญ เพราะปัญหาสุขภาพฟันอาจจะเริ่มที่ช่องปาก แต่อาจจะส่งผลถึงอวัยวะอื่น ๆ ที่อยู่ข้างเคียง โดยเรามีวิธีการดูแลสุขภาพช่องปากดังต่อไปนี้
- แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หลังตื่นนอนและก่อนนอน เพื่อกำจัดเศษอาหารและแบคทีเรียที่ติดค้างตามซอกฟันให้หลุดออกไป แนะนำให้เลือกยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ที่ช่วยป้องกันฟันผุ
- ใช้ไหมขัดฟัน ช่วยกำจัดเศษอาหารที่ติดอยู่ตามซอกฟันในบริเวณที่แปรงเข้าไม่ถึง
- งดกินอาหารที่มีส่วนประกอบของแป้ง น้ำตาลในปริมาณสูง และไม่กินของจุกจิกระหว่างวันมากเกินไป
- ตรวจสุขภาพช่องปาก ขูดหินปูนปีละ 1-2 ครั้ง
ตรวจเช็กสุขภาพฟันอยู่เสมอ หากพบว่ามีปัญหาฟันเป็นโพรงควรรีบรักษา ที่คลินิกทันตกรรมจาก BDMS Wellness Clinic มีบริการอุดฟันแบบ Inlays และ Onlays เพื่อรักษาอาการฟันเป็นโพรง ให้คุณได้กลับไปมีฟันที่แข็งแรง สนใจนัดหมายทันตแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพฟันและวางแผนการรักษาได้เลย ที่เบอร์ 02-826-9999 หรือ LINE Official @bdmswellnessclinic
ข้อมูลอ้างอิง
- What Is Pulpitis?. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.webmd.com/oral-health/what-is-pulpitis
- Pulpitis. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.msdmanuals.com/professional/dental-disorders/common-dental-disorders/pulpitis#:~:text=Pulpitis%20is%20inflammation%20of%20the,rays%20and%20pulp%20vitality%20tests