

Good Food Good Tips
กินน้ำมันมะพร้าวแล้วดีอย่างไร?
น้ำมันมะพร้าว ถูกจัดอยู่ในกลุ่มไขมันอิ่มตัวชนิดหนึ่ง (saturated fat) จากผลสรุปงานวิจัย พบว่าไขมันชนิดนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องระดับคอเรสเตอรอลในเลือดสูง ทำให้คนไข้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจมากขึ้น (cardiovascular diseases) แต่ไขมันอิ่มตัวไม่ได้มีแค่ชนิดเดียว นักวิจัยได้แบ่งไขมันชนิดนี้ออกเป็นกลุ่มย่อยอีก 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม Long chain fatty acids และ กลุ่ม Medium chain fatty acids
น้ำมันมะพร้าวมีส่วนประกอบอะไรบ้าง?
น้ำมันมะพร้าวจะประกอบไปด้วย 3 ส่วนผสมคือ
1. กรดไขมันอิ่มตัวสายกลาง หรือ Medium chain fatty acid (63%) ซึ่งส่วนมากคือกรดลอริก (Lauric acid)
ซึ่งเป็นกลุ่มกรดไขมันจำเป็นที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ (Health promoting effects)
2. กรดไขมันอิ่มตัวสายยาว หรือ Long chain fatty acids (30%)
พบได้ใน นม เนย ชีส (Dairy products) และ ไขมันจากสัตว์ ทุกชนิด (Animal fats) ซึ่งอันตรายต่อสุขภาพ และควรหลีกเลี่ยง
3. กรดไขมันไม่อิ่มตัวสายยาว (7%)
ดังนั้นเมื่อน้ำมันมะพร้าว ประกอบไปด้วยทั้งไขมันดีและไม่ดี จึงควรรู้จักประโยชน์และโทษของน้ำมันมะพร้าวก่อนนำมาใช้
ประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าว
1. ช่วยฆ่าเชื้อโรค( Natural antiseptic)
กรดลอริก ในน้ำมันมะพร้าว เป็นสารปฏิชีวนะจากธรรมชาติที่มีฤทธิ์ ในการฆ่าเชื้อโรค เชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรียได้ ดังนั้นการกลั้วคอ และการอมน้ำมันมะพร้าว (oil pulling) สามารถช่วยทำลายเชื้อโรคในช่องปากและลำคอได้ แต่ไม่ควรกลืนน้ำมันมะพร้าวลงคอ
2. ช่วยบำรุงผิวพรรณ
ในน้ำมันมะพร้าว มีวิตามินอี อุดมอยู่มาก จึงเป็นเสมือนโลชั่นทาผิวชั้นดีในการบำรุงและถนอมผิวพรรณของเรา อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาผิวแห้งกร้าน ริมฝีปากแตก และรอยแตกลายหลังคลอด
โทษของน้ำมันมะพร้าว
เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวประกอบไปด้วยกรดไขมันทั้ง 2 ชนิด คือ Medium chain fatty acid ซึ่งเป็นชนิดที่ดี และlong chain fatty acids ซึ่งเป็นชนิดที่ไม่ดี ในทางการแพทย์เวลาจะใช้กรดไขมันอิ่มตัวสายกลาง จะมีการนำน้ำมันมะพร้าวไปสกัดเพื่อแยกออกมาให้เหลือเฉพาะ Medium chain fatty acid หรือกรดไขมันอิ่มตัวสายกลางเท่านั้น จึงนำไปใช้ประโยชน์ได้ แตกต่างจากน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นที่มีขายทั่วไปในท้องตลาด ไม่แนะนำให้รับประทาน เพราะประกอบไปด้วยทั้งไขมันชนิดดีและไม่ดี เหมาะสำหรับการใช้ในการฆ่าเชื้อโรคและ บำรุงผิวพรรณ แต่ไม่แนะนำให้รับประทาน
Credit: Health Brings Wealth Magazine Issue: 15, สมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วน กรุงเทพ (BARSO)
Regenerative Wellness Clinic (คลินิกดูแลป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพ)